มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร?

ผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการป่วยที่ปรากฏชัดเจนใน ระยะแรกของโรคมะเร็งปากมดลูก แต่มักพบอาการแสดงในระยะที่เซลล์มะเร็งเริ่มพัฒนาลุกลามไปแล้ว 

มะเร็งปากมดลูก มีระยะของโรค ดังนี้ 

  • ระยะก่อนมะเร็ง มีการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพบริเวณปากมดลูกที่สามารถก่อมะเร็งได้ในอนาคต อย่างเซลล์เยื่อบุปากมดลูกมีการแบ่งตัวผิดปกติ แต่ยังไม่พบเซลล์มะเร็ง ลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า Cervical Intraepithelial Neoplasia (CIN) หรือ Carcinoma In Situ (CIS)
  • ระยะที่ 1 มะเร็งก่อตัวและฝังอยู่บริเวณปากมดลูก
  • ระยะที่ 2 มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อในบริเวณใกล้เคียง ช่องคลอดส่วนบนแต่ยังไม่ลามไปถึงเนื้อเยื่อผนังอุ้งเชิงกรานหรือช่องคลอดส่วนล่าง
  • ระยะที่ 3 มะเร็งแพร่ไปทั่วบริเวณเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องคลอดส่วนล่าง
  • ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปยังกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ปอด ตับ กระดูก และอวัยวะอื่น ๆ

โดยทั่วไป อาการที่พบ ได้แก่

  • เลือดไหลออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ โดยที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน อาจมีเลือดออกหลังเพิ่งมีประจำเดือนผ่านไปไม่นาน หรือมีเลือดออกในผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
  • เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ
  • ปวดท้องน้อย หรือปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกรานที่ไม่ใช่ปวดประจำเดือน

นอกจากนี้ มีบางอาการที่อาจเกิดขึ้นตามมา อันเป็นผลมาจากการที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะและระบบต่าง ๆ บริเวณข้างเคียง เช่น ท้องผูก ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ปวดตอนปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะมีเลือดปน ปวดหลังและปวดด้านข้างลำตัวอันเป็นผลมาจากภาวะไตบวม ร่างกายอ่อนล้า ไม่มีแรง เป็นต้น 

ส่วนอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยทรุดลงหรือถึงแก่ชีวิต จะเป็นอาการจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดจากการลุกลามของเซลล์มะเร็ง

มีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งที่บริเวณปากมดลูก แต่สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่คือ การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ที่บริเวณปากมดลูกจากการมีเพศสัมพันธ์

ไวรัส HPV มักติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยทั่วไป ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่จะกำจัดเชื้อนี้อออกไปได้ภายใน 2 ปี แต่ในบางรายก็ไม่สามารถกำจัดเชื้ออกไปได้หมด และการติดเชื้อนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง DNA ที่เซลล์ปากมดลูก จนอาจพัฒนาเป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตผิดปกติอย่างควบคุมไม่ได้ กลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

แม้จะเป็นสาเหตุหลัก แต่ไม่ใช่ไวรัส HPV ทุกตัวที่ก่อมะเร็งได้ มี HPV กว่า 100 สายพันธุ์ และส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดมะเร็ง มีเพียง 15 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยสายพันธุ์หลักที่ติดเชื้อแล้วมีความเสี่ยงสูงมากที่สุดในการพัฒนาเป็นมะเร็ง คือ HPV-16 และ HPV-18

ดังนั้น ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ติดเชื้อ HPV แล้วจะพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งปากมดลูกได้ และการพัฒนาจากเซลล์ที่ผิดปกติไปเป็นเซลล์มะเร็งก็ใช้เวลานานหลายปีหรือหลายสิบปี การตรวจร่างกายประจำปีจึงมีส่วนช่วยในการยับยั้งป้องกันโรคและการลุกลามของโรคได้เป็นอย่างดี

ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ รองลงมา คือ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก (CIN) เป็นการเปลี่ยนแปลงเซลล์บริเวณเยื่อบุปากมดลูก อย่างการเปลี่ยนโครงสร้าง DNA ของเซลล์ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่อาจไม่มีการพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง หรืออาจมีการพัฒนาไปเป็นมะเร็งแต่ต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี

การมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายต้านทานต่อเชื้อโรคหรือสารก่อมะเร็งได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจเกิดจากปัจจัยใน สุขภาพร่างกายของบุคคล ผลข้างเคียงจากการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ หรือปัจจัยภายนอกอย่างการใช้ยาที่ลดระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างยากลุ่มกดภูมิต้านทาน (Immunosuppressants) ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยยากลุ่มนี้มักใช้รักษาในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานมากเกินไป เช่น ผู้ป่วยภูมิแพ้ ผู้ที่ร่างกายต่อต้านหลังการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่

นอกจากนี้ สารเคมีที่พบในบุหรี่จะส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ปากมดลูก ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ และสำหรับผู้หญิงที่มีลูกหลายคน ยังมีทฤษฎีที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกอ่อนแอลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV แล้วไม่สามารถกำจัดเชื้อไปได้

สอบถามข้อมูลสุขภาพได้ที่นี่ >>>

Loading

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น ตาม Privacy Policy.